แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว 5 อันดับที่น่าสนใจ - Recommended attractions No. 5 interesting for travel.



อันดับ 1. วัดโสธรวรารามวรวิหาร (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา)


วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ห่างจากศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทราไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 2 กิโลเมตร มีพื้นที่วัดประมาณ 200 ไร่เศษ เป็นวัดมงคลคู่เมืองแปดริ้ว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ในบริเวณที่เรียกว่า "คุ้งมังกร" ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เดิมชื่อ "วัดหงส์" ต่อมาเมื่ออัญเชิญพระพุทธโสธรมาประดิษฐานภายในวัด จึงมีเหตุการณ์ดลบันดาลให้เกิดพายุพัดเอาหงส์ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเสาหงส์ลงมา ชาวบ้านจึงแก้ไขเป็นเสาธง แล้วเปลี่ยนชื่อจากวัดหงส์เป็น "วัดเสาธง" ต่อมาไม่นานก็เกิดพายุพัดเสาธงหักอีก ชาวบ้านจึงเปลี่ยนชื่อจากวัดเสาธงมาเป็น "วัดเสาธงทอน" ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าชื่อนี้ไม่ไพราะ จึงได้ขนานนามใหม่ว่า "วัดศรีโสทร" หรือวัดโสทร" ซึ่งหมายถึงวัดพระ 3 องค์พี่น้องร่วมอุทรเดียวกันตามชื่อพระพุทธรูป ต่อมาเนื่องจากอานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏ อีกทั้งพุทธศิลป์อันงดงามของหลวงพ่อ ทำให้ชื่อวัดและพระพุทธรูปที่ประดิษฐฐานอยู่ภายในเปลี่ยนเป็น "โสธร" ซึ่งหมายความว่า บริสุทธิ์หรือศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา



วัดโสธรเดิมเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2501 ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร มีนามว่า "วัดโสธรวรารามวรวิหาร" ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีพระอุโบสถหลังใหม่ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ด้วยศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์ หลังคาจตุรมุขแบบปราสาทไทย ส่วนกลางพระอุโบสถมียอดมณฑปเป็นยอดฉัตรทองคำแท้ 5 ชั้น น้ำหนัก 77 กิโลกรัม พระอุโบสถปูด้วยหินอ่อนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และงดงามที่สุดในโลก ที่สำคัญสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ยังเป็นวัดที่สำคัญในรัชกาลปัจจุบัน



พระพุทธโสธรหรือหลวงพ่อโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองแปดริ้ว ตามตำนานกล่าวไว้อย่างน่าอัศจรรย์ว่าเป็นพระพุทธรูป 1 ใน 3 องค์ ที่ลอยตามลำน้ำบางปะกงมาผุดขึ้นที่หน้าวัดโสธร ชาวบ้านช่วยกันฉุดรั้งอัญเชิญขึ้นจากน้ำแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาตั้งศาลเพียงตา ทำพิธีบวงสรวงแล้วเอาสายสิญจน์มาคล้องไว้ที่พระหัตถ์ จึงอัญเชิญขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ



หลวงพ่อพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สกุลช่างล้านช้าง ที่มีพุทธลักษณะที่งดงามอีกองค์หนึ่งของเมืองไทยแต่เนื่องจากพระสงฆ์ในวัดขณะนั้นเกรงว่าอาจจะไม่ปลอดภัยในภายภาคหน้า จึงเอาปูนมาพอกเสริมให้ใหญ่ขึ้นเพื่อหุ้มองค์จริงไว้ภายในมีการลงรักปิดทองให้สวยงาม อนึ่ง จากการปฏิสังขรณ์หลวงพ่อพุทธโสธร มีการลอกทองจากตัวองค์พระ พบว่าพระพุทธโสธรสร้างด้วยหินทราย 8 ชิ้น (สุวิชญ์ รัศมิภูติ, 2550)




----- travel in thailand -------







อันดับ 2 ตลาดบ้านใหม่(อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา)


ตลาดบ้านใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นตลาดเก่าอายุกว่า 100 ปี เดิมชื่อตลาดบน แต่เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ จึงก่อสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาแทน ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ตลาดบ้านใหม่" บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่ออดีตสถานที่แห่งนี้มีความคับคั่งด้วยผู้คนที่มาประกอบอาชีพค้าขาย เป็นตลาดบกริมน้ำที่เจริญรุ่งเรืองมาก รวมทั้งเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่ง เมื่อวันที่ 26 มกราคม รศ.126 (พ.ศ. 2450) ดังข้อความในพระราชหัตถเลขาว่า "...เสด็จขึ้นที่ท่าตลาดบ้านใหม่ ทอดพระเนตรตลาดนั้นไปจนสุดตลาด..."



ตลาดบ้านใหม่แห่งเป็น 2 เขต คือ ตลาดบนกับตลาดกลาง ตลาดบนบางครั้งเรียกชื่อตามนามเจ้าของว่าตลาดขุนอินทรนรกิจ มีอาณาเขตตั้งแต่ทางเข้าตลาดจนถึงศาลเจ้าอาม่าแต่เดิมบริเวณทางเข้าตลาดเป็นโรงฝิ่นขนาดใหญ่ ซึ่งยกเลิกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. 2501 ต่อมาปรับเปลี่ยนเป็นห้องแถวให้เช่า ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปเหลือเพียงบางส่วนที่เป็นตลาดด้านใน ตลาดกลาง อยู่ถัดจากศาลเจ้าอาม่า ลงไปจนถึงหัวตลาดบริเวณศาลเจ้าโกมินทร์ยังคงสภาพความเป็นตลาดโบราณไว้จนปัจจุบัน



เมื่อ พ.ศ. 2547 ชุมชนบ้านใหม่พร้อมใจฟื้นฟูตลาดชุมชนอายุกว่า 100 ปี เปิดตลาดบ้านใหม่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมวิถีชีวิตย้อนยุค เลือกชิมอาหารรสอร่อย เลือกซื้อของฝากจากแปดริ้วในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ อีกทั้งอาคารบ้านเรือนทั่วไปได้รับการปรับปรุงให้อยู่ในสภาพดีขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจจะเลือกการล่องเรือชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงจากวัดโสธรมาขึ้นยังตลาดบ้านใหม่เป็นสิ่งที่น่าสนใจ




------ thailand travel ---------








อันดับ 3 วัดจีนประชาสโมสร(เล่งฮกยี่ใกล้ตลาดบ้านใหม่)(อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา)




ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา วัดแห่งนี้เดิมชื่อว่า "เล่งฮกยี่" เป็นพุทธสถานฝ่ายมหายานที่ทรงคุณค่าด้วยศิลปกรรมอันงดงามแบบจีน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองแปดริ้วใน พ.ศ. 2450 เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนวัดแห่งนี้และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อ "วัดเล่งฮกยี่" เป็น "วัดจีนประชาสโมสร" โดยมีป้ายชื่อพระราชทานประดับเด่นเป็นสง่าตราบเท่าปัจจุบัน


บริเวณทางเข้าพระอุโบสถของวัดคือท้าวจตุโลกบาล ซึ่งทำหน้าที่ปกปักรักษาโลกในทิศทั้งสี่ ส่วนภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปแบบจีนลัทธิมหายานอีก 3 องค์ คือ พระยู่ไล้ พระโอนิโทฮุดและพระเอื้อซือฮุด ซึ่งเชื่อว่าสามารถปกปักรักษาโรภัยไข้เจ็บได้ พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ สร้างขึ้นจากกระดาษที่นำมาจากเมืองเซี่ยงไฮื้ ประเทศจีน พร้อม ๆ กันกับพระพุทธรูป 18 อรหันต์ ที่ประดิษฐานอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ วัดจีนประชาสโมรได้ดำเนินการก่อสร้างเจดีย์ 7 ยอด และรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือเจ้าแม่กวนอิมพันมือ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริรราชสมบัติครบ 50 ปี





อันดับ 4 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(อำเภอพนมสารคาม)



ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอ้นเนื่องมาจากพระราชดำริได้รับรางวัลยอดเยี่ยม ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรจากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2547 ซึ่งในการประกวดครั้งที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แสดงให้เห็นว่าแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่มีการพัฒนาและจัดระบบการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความคุ้มค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้แวะเยี่ยมเยียน ผู้สนใจจะเข้าชมศูนย์เป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม โดยทำหนังสือติดต่อล่วงหน้า นอกจากนั้นศูนย์ฯ ยังมีบริการที่พัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนในเวลาราชการ ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โทร 038-599105-6 การเดินทาง กรุงเทพฯ - ฉะเชิงเทรา - อ.พนมสารคาม






อันดับ 5 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน (อำเภอท่าตะเกียบ)



เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ 643,750 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่ป่าผืนใหญ่รอยต่อ 5 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทราคลองโตนด จังหวัดจันทบุรี และแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-150 เมตร ประกอบด้วยพื้นที่ป่าปกคลุมเป็นบริเวณกว้างใหญ่ มีสัตว์ป่านานาชนิด และนกพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่มากมายและเป็นที่ตั้งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าแห่งแรกของภาคตะวันออก และเป้นแหล่งที่สองของประเทศไทย รองจากสถานีวิจัยสัตว์ป่านางรำที่ห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี บริเวณหุบเขาร่มรื่นและเย็น นอกจากนั้นยังมี น้ำตกอ่างฤๅไนหรือน้ำตกบ่อทอง เกิดจากคลองหมากบนเขาอ่างฤๅไน อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าประมาณ 2 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมืองใช้เส้นทาง ฉะเชิงเทรา - พนมสารคาม จากอำเภอพนมสารคามใช้เส้นทางหมายเลข 3245(พนมสารคาม-สนามชัยเขต) จากนั้นไปตามเส้นทางหมายเลข 3259 ผ่านอำเภอท่าตะเกียบ สู่บ้านหนองคอก ระยะทาง 50 กิโลเมตร ต่อด้วยเส้นทางสู่อำเภอ



วังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว อีกประมาณ 20 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน และสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน การเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควรปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะต้องทำจดหมายขออนุญาตล่งหน้าอย่างน้อย 15 วัน เรียนผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ โทร 02-561-4292 ต่อ 765







GoodLuck for travel this trip.


0 comments

Post a Comment